บทความน่าสนใจ

ประเภทของกาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัด

“กาว ” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ไม้อัด (Plywood) เพื่อให้ได้ไม้อัดที่มีคุณภาพดีเหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภทนั้น การเลือกประเภทกาว (Adhesive) ที่ใช้ในการผลิตให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้

1. ไม้อัดประเภทภายนอก ใช้กาวที่ทนทานต่อลมฟ้าอากาศ น้ำเย็น น้ำเดือด ไอน้ำและความร้อนแห้งได้ดี เหมาะสำหรับ ใช้ภายนอกอาคารหรือในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำ

กาวประเภทนี้ได้แก่กาวฟีนอล – ฟอร์มัลดีไฮด์ (PF-Phenol Formaldehyde) ไม้อัดที่ใช้กาวประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้ภายนอกอาคารหรือที่ที่ถูกน้ำหรือละอองน้ำ จึงเป็นที่นิยมใช้ทำ ชายคาบ้าน ฝ้าเพดาน ทำประตูและฝาห้องน้ำหรือ ภายนอกบ้าน จึงมักเรียกไม้อัดชนิดนี้ว่าไม้อัดใช้ภายนอก (Exterior Plywood) นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเรือ ดาดฟ้าเรือแทนไม้แปรรูปได้ด้วย ซึ่งในตลาดไม้อัด บางครั้งจึงเรียกไม้อัดประเภทนี้ว่า Marine Plywood (มารีน พลายวู้ด)

2. ไม้อัดประเภททนความชื้น ใช้กาวที่ทนทานต่อลมฟ้าอากาศ น้ำเย็น น้ำเดือด ไอน้ำ และความร้อนแห้งในเวลาจำกัด เหมาะสมสำหรับใช้ภายในและภายนอกอาคารหรือในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำเป็นครั้งคราว

กาวประเภทนี้ ได้แก่ กาวเมลามีน – ฟอร์มัลดีไฮด์ (MF, Melamine Formaldehyde) มักนิยมใช้ในการผลิตแผ่นปาร์ติเกิ้ล (Particle Board) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยเฉพาะการต้านทานต่อความชื้นและสภาพฝนฟ้าอากาศร้อน ที่เราเรียกกันว่า แผ่นปาร์ติเกิ้ลบอร์ดเกรดทนชื้น (PB ทนชื้น) เป็นต้น ทั้งนี้กาวเมลามีน– ฟอร์มัลดีไฮด์ ยังมีการใช้ในการต่อไม้ที่ต้องการใช้ชิ้นงานในสภาพที่เปียกชื้นด้วย

3. ไม้อัดประเภทภายใน ใช้กาวที่ทนน้ำเย็นได้ดีพอสมควร ทนทานน้ำร้อนได้ในเวลาจำกัด เหมาะสำหรับใช้ในอาคารหรือในที่ซึ่งไม่ถูกละอองน้ำ

กาวที่ใช้ได้แก่ กาวพวกยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ (UF, Urea Formaldehyde) ไม้อัดที่ใช้กาวพวกนี้เหมาะสำหรับใช้ทำ เฟอร์นิเจอร์ภายใน ฝ้าเพดานหรือประตูภายใน ทำเครื่องเรือนและของใช้อื่นๆที่อยู่ในร่ม ไม่ถูกแดดถูกฝน นิยมเรียกไม้อัดประเภทนี้ว่า ไม้อัดภายใน ( Interior Plywood)

4. ไม้อัดประเภทชั่วคราว ใช้กาวที่ทนน้ำเย็นได้ในเวลาจำกัดเหมาะสำหรับการใช้งานชั่วคราว

กาวที่ใช้ได้แก่ กาวที่มีคุณภาพต่ำกว่ากาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์(UF) หรือกาวที่เป็นตัวเพิ่มเนื้อกาว (Extender) ผสมลงไป หากใส่ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้คุณภาพของกาวต่ำลง แผ่นไม้อัดที่ผลิตจึงมีคุณภาพต่ำลงไปด้วย และมักเรียกไม้อัดประเภทนี้ว่าไม้อัดใช้งานชั่วคราวหรือ งานที่พักคนงาน หรืองานออกบูธตามงานงานเทศกาลประจำปี เพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

จากบทความข้างต้น หลายท่านคงได้ยินกับชื่อของกาวชนิดต่างๆที่ใช้ในงานไม้อัดมาบ้างกันแล้ว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า กาวแต่ละประเภทนั้นมีคุณสมบัติ และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างไร? ทีมไม้อัดลานนา ขออธิบายอย่างละเอียดให้ผู้ที่สนใจ ดังนี้

กาวสังเคราะห์ที่ใช้ในงานไม้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

1. กาวเรซินชนิดแข็งตัวเมื่อร้อน (Thermo-setting resins) เป็นกาวที่ได้รับความร้อนจะแปรสภาพเป็นแผ่นแข็งที่ไม่สามารถหลอมละลายได้อีก
2. กาวเรซินชนิดอ่อนตัวเมื่อร้อน (Thermo-plastic resins) หรือร้อนเหลว (hot-melts) ต้องให้ความร้อน จึงกลายเป็นสารยึดติดเมื่อเย็น

3. กาวอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า Contact adhesives หรือที่เราเรียกกันว่า “กาวยาง” กาวติดสัมผัส เป็นกาวที่ประกอบด้วยสารละลายของยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ซึ่งจะแปรสภาพเกิดการยึดติด เมื่อระเหยสารทำละลาย (Solvent) เป็นกาวที่มีการใช้น้อยในงานไม้แต่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับงานตกแต่งหุ้มเบาะเครื่องเรือน

สำหรับกาวเรซินชนิดแข็งตัวเมื่อร้อน (Thermo-setting resins) ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัดมีดังต่อไปนี้

1. กาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ (UF , Urea Formaldehyde)

เป็นกาวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย กาวมีลักษณะใส โดยทั่วไปใช้ในการผลิตแผ่นไม้อัด แผ่นไม้ปาร์ติเกิล (Particle Board) แผ่น MDF แผ่นไส้ไม้ระแนง และใช้กันมากในการปิดผิวไม้บางบนงานเครื่องเรือน แต่ควรจะต้องระมัดระวังเพราะว่าเป็นกาวที่เหมาะต่อการใช้งานที่ทนทานต่อความชื้นแต่ไม่ต้านทานน้ำ

2. กาวเมลามีน – ฟอร์มัลดีไฮด์ (MF, Melamine Formaldehyde)

เป็นกาวที่คล้ายกับกาว UF กาวมีลักษณะใส มีคุณสมบัติในการต้านทานต่อความชื้นและสภาพการใช้งานที่เปียกชื้น จึงนิยมใช้ในการผลิตแผ่นปาร์ติเกิ้ล (Particle Board) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยเฉพาะการต้านทานต่อความชื้นและสภาพฝนฟ้าอากาศร้อน ที่เราเรียกกันว่า แผ่นปาร์ติเกิ้ลบอร์ดเกรดทนชื้น (PB ทนชื้น) เป็นต้น ทั้งนี้ยังใช้ในการต่อไม้ที่ต้องการใช้ชิ้นงานในสภาพที่เปียกชื้นด้วย
หมายเหตุ : กาว MF จำเป็นต้องใช้อุณหภูมิที่ทำให้แข็งตัวที่สูงกว่า UF แต่มีความต้านทานน้ำและอุณหภูมิที่สูงได้ดีกว่า ข้อเสียคือราคา MFสูง ซึ่งสูงกว่าราคา UF ถึง 4–5 เท่า จึงมีการนำมาผสมกับกาว UF เพื่อลดต้นทุนราคาลง เรียกว่า MUF glues

3. กาวฟีนอล – ฟอร์มัลดีไฮด์ (PF-Phenol Formaldehyde) เป็นกาวที่ใช้กันมากในการผลิตแผ่นไม้อัดชนิดใช้งานในทะเล (Marine Plywood) และไม้อัด OSB สำหรับใช้งานในการก่อสร้าง เป็นต้น

4. กาวไอโซไซยาเนต (Isocyanate Resins ) หรือที่เรียกกันว่า “ กาว pMDI”
ปัจจุบันถูกใช้ในการผลิต Particle Board ,MDF และ ไม้อัด OSB เมื่อต้องการชิ้นงานที่มีความทนทานสูง

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :

  • มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 178-2549 (แผ่นไม้อัด : VENEER PLYWOOD)
  • โครงการพัฒนากาวติดไม้ (Wood Adhesion and Adhesives Development Project)
  • งานอุตสาหกรรมวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และป้องกันรักษาเนื้อไม้
    สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *